วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ชนิดของระบบระบายอากาศ

จากที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ว่า ระบบระบายอากาศ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท โดยอาศัยหลักการที่ใช้ในการดำเนินการระบายอากาศ คือ
1.      ระบบระบายอากาศแบบทำให้เจือจาง (dilution ventilation) หรือแบบทั่วไป (general dilution)
2.      ระบบระบายอากาศแบบเฉพาะที่ (local exhaust ventilation)

1.         ระบบระบายอากาศแบบทำให้เจือจาง  เป็นการระบายอากาศเพื่อลดความเข้มข้นของมลพิษซึ่งปนเปื้อน อยู่ในอากาศในโรงงาน หรือสถานประกอบการ  โดยการทำให้เจือจางลงด้วยอากาศบริสุทธิ์จากภายนอก จนกระทั่งมลพิษดังกล่าวมี ความเข้มข้นอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  หรือไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ (เช่น กลิ่นอันไม่พึงประสงค์)
นอกจากนี้  ระบบระบายอากาศนี้ ยังใช้ได้ดีในการป้องกัน และควบคุมความร้อน ความชื้น และอันตรายจากการระเบิดอันเนื่องมาจากความเข้มข้นของสารเคมีบางประเภทอีกด้วย


2.         ระบบระบายอากาศแบบเฉพาะที่  เป็นการระบายอากาศเช่นเดียวกับระบบระบายอากาศแบบทำให้เจือจาง กล่าวคือ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพและควบคุมปัญหา ความเดือดร้อน รำคาญ และป้องกันอันตรายจากการระเบิด แต่หลักการและวิธีการจะแตกต่างกันออกไป คือ ระบบระบายอากาศแบบเฉพาะที่ จะอาศัยหลักการของการดูด ระบายมลพิษ พร้อมทั้งอากาศที่ถูกปนเปื้อนออกไปจากบริเวณที่เป็นแหล่งกำเนิดโดยตรง ก่อนที่มิลพิษนั้นจะเข้าไปปนเปื้อนกับอากาศ  ซึ่งประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลักสำคัญ ได้แก่
                                                         i.      ท่อดูดอากาศ (Hoods)
                                                       ii.      ท่อลม (Ducts)
                                                      iii.      พัดลมระบายอากาศ (Exhaust Fan)
 ท่อส่งลม
(ตัวอย่าง ท่อลม)


และนอกจากทั้ง 3 องค์ประกอบหลักนี้ อาจจะมีอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดอากาศ (air cleaners) ติดตั้งด้วย ในกรณีที่จำเป็น เช่น เมื่อปริมาณสารมลพิษ มีความเข้มข้นในปล่องควันของระบบระบายอากาศ มีระดับสูงกว่ามาตรฐานคุณภาพที่ปล่อยออกมานอกโรงงาน ซึ่งกำหนดไว้สำหรับมลพิษชนิดนั้น ๆ 


วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประโยชน์ของระบบระบายอากาศ

จากที่กล่าวมาในบทความที่แล้ว จะเห็นได้ว่า ระบบระบายอากาศมีความสำคัญอย่างไร มีแนวคิดที่มาอย่างไร รวมถึงผลเสียของสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมจะมีความอันตรายอย่างไรหากไม่มีนโยบายและการปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษทางอากาศ ในส่วนนี้ เราลองมาดูกันว่าเมื่อเรามีระบบระบายอากาศ เราจะได้ประโยชน์อะไรบ้างกับสิ่งนี้
1.      ระบบระบายอากาศจะป้องกันไม่ให้เกิดอัคคีภัยและการระเบิดได้ เพราะในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท จะมีการใช้สารเคมีที่เป็นตัวทำละลายในกระบวนการผลิต หากมีไอสารของตัวทำละลายฟุ้งกระจายในปริมาณเข้มข้น โดยไม่มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสม หากเมื่อใดก็ตามเกิดมีความร้อนหรือประกายไฟในบริเวรณนั้น ก็สามารถทำให้เกิดการติดไฟ ลุกไหม้ได้ หรือในบางกรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งอาจมีฝุ่นฟุ้งกระจายอย่างหนาแน่น เช่นเดียวกัน อาจนำไปสู่การระเบิดขึ้นได้ หากเกิดประกายไฟขึ้น
2.      ในสภาวะห้องทำงาน สถานประกอบการ หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีภาวะปิด ระบบระบายอากาศ สามารถควบคุมระดับสิ่งปนเปื้อนในอากาศให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้
3.      ระบบระบายอากาศ สามารถควบคุม ความร้อน ความชื้นให้อยู่ในระดับที่ส่งเสริมการทำงานของผู้ปฏิบัติงานให้รู้สึกสบาย อันส่งผลให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดี และในทางตรงกันข้าม หากผู้ปฏิบัติหน้าที่รู้สึกไม่สบายอันเกิดจากความร้อนและความชื้น จะทำให้หงุดหงิด เสียสมาธิ อึดอัด และในที่สุดก็จะมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ อันนำไปสู่ผลผลิตที่ตกต่ำ หรือร้ายไปกว่านั้นอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้เพราะหากมีความร้อน หรือความชื้นในอากาศที่ระดับไม่เหมาะสมกับร่างกาย จะทำให้เกิดการเสียเหงื่อมากกว่าปกติ จนก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังที่กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้า ถึงอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรม

4.      ระบบระบายอากาศที่ดี จะช่วยประหยัดทรัพยากรได้ ยกตัวอย่างเช่น ระบบดัก เก็บ วัสดุที่ฟุ้งกระจายในสถานประกอบการ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะนำสิ่งนั้นมาใช้ประโยชน์ได้อีก รวมถึงลดปัญหาต้นทุนการกำจัด จัดการ ความสกปรก ไม่เป็นระเบียบของการฟุ้งกระจายของวัสดุ ยกตัวอย่างเช่น ขี้เลื่อยในโรงงานผลิต หรือแปลรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ หากไม่มีการจัดการที่ดี โดยปล่อยให้ขี้เลื่อยลอยฟุ้งไปกระจัดกระจาย ขี้เลื่อยก็จะตกและกองอยู่ตามพื้น หรือเกาะตามเครื่องจักร วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงงาน การจัดการขี้เลื่อยเพื่อลดปัญหาและอุบัติเหตุ และให้เกิดประโยชน์นี้ อาทำได้โดยติดตั้งพัดลมระบายอากาศ หรือพัดลมโรงงาน หรือ พัดลมดูดอากาศเพื่อการจัดการระบบระบายอากาศ ด้วยการดักเก็บฝุ่นเหล่านั้นเอาไว้ แทนที่จะปล่อยให้ฟุ้งกระจัดกระจาย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้สถานประกอบการโรงงานนั้นมีสุขอนามัยที่ดี ไม่ก่อนให้เกิดโรคจากมลภาวะทางอากาศแล้ว ยังสามารถนำขี้เลื่อยพวกนี้มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่นได้ เช่น ไม้อัด กระดานอัดจากขี้เลื่อย เป็นต้น 

ภาพตัวอย่างพัดลมดูดอากาศ

วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

แนวคิดของระบบระบายอากาศ


แนวคิดของระบบระบายอากาศ

จากที่กล่าวในบทความที่แล้วว่า ในโรงงานอุตสาหกรรมมีความอันตรายและอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงมีมาตรการทางกฎหมายเข้ามาเพื่อควบคุมให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานอุตสาหกรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานได้อย่างปกติสุขและถูกสุขอนามัย
บทความที่แล้วกล่าวถึงอันตรายและการลดอันตรายจากอุณหภูมิที่ร้อน ด้วยระบบระบายอากาศ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นระบบระบายอากาศแบบทั่วไป (general dilution) และระบบระบายอากาศแบบเฉพาะที่ (local exhaust ventilation) ในบทความนี้ เรามาดูกันว่า ระบบระบายอากาศแบบทั่วไป มีแนวคิดอย่างไร เหตุใดจึงต้องมีการใช้ระบบระบายอากาศ รวมถึงประโยชน์ของการระบายอากาศที่เกี่ยวกับความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม

แนวคิดของระบบระบายอากาศ
เนื่องจากในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถเกิดอุบัติเหตุและมลพิษได้ตลอดเวลา ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทางกฎหมายจึงได้กำหนดให้มีมาตรฐานคุณภาพอากาศภายในสถานประกอบการขึ้น ทั้งนี้ มาตรฐานคุณภาพอากาศของแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันออกไปได้
วิธีการที่ใช้ควบคุมมลพิษในอากาศ มีอยู่ด้วยกันหลายประการ เช่น
·       การเลือกใช้วัตถุดิบ และ/หรือ กรรมวิธีการผลิตที่มีอันตรายน้อยกว่า
·       การแยกกรรมวิธีการผลิตที่มีอันตรายออกไปอยู่ต่างหาก
·       การปกปิดไม่ให้มลพิษถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดเข้าสู่อากาศ
·       การระบายอากาศชนิดต่าง ๆ สำหรับการใช้อุปกรณ์คุ้มครองอันตรายส่วนบุคคลแบบต่าง ๆ นั้น ไม่ถูกจัดว่า เป็นวิธีการ ควบคุมแต่เป็นวิธีการ ป้องกันไม่ให้มลพิษเข้าสู่ร่างกายของผู้สวมใส่อุปกรณ์ฯ ทั้งนี้ภายใต้ ภาวะที่ใช้งาน มลพิษยังคงมีอยู่ในอากาศ

จะเห็นได้ว่า การระบายอากาศเป็นวิธีการควบคุมมลพิษทางอากาศที่ดีวิธีหนึ่ง โดยมีหลักการของการเคลื่อนย้ายอากาศที่ปนเปื้อนด้วยมลพิษออกไปจากสถานประกอบการ การระบายอากาศ จึงหมายถึง การจัดการเคลื่อนย้ายอากาศให้ไหลไปในทิศทาง และความเร็วที่ต้องการ ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า ระบบระบายอากาศนอกจากจะเคลื่อนย้ายอากาศออกไปจากสถานประกอบการแล้ว ยังสามารถดำเนินการให้อากาศบริสุทธิ์ หรืออากาศที่ต้องการไหลเข้ามาในสถานประกอบการได้เช่นกัน ดังนั้น การออกแบบระบบระบายอากาศ โดยหลักการแล้ว สามารถออกแบบและควบคุมให้เป็นไปตามความต้องการ จึงเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลยิ่งวิธีหนึ่งในการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม